มูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์สำนักงานใหญ่กรุงเทพฯ
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

 








อุบัติเหตุจากรถยนต์
 หากเจออุบัติเหตุที่เกิดจากรถคว่ำ หรือรถชน สิ่งแรกที่ควรจำคือ ช่วยปลอบโยนคนเจ็บให้อยู่ในความสงบ ถามถึงจำนวนคนเผื่อว่าอาจจะมีบางคนที่กระเด็นออกไปนอกรถ ถ้าคนเจ็บหมดสติอย่าให้กินอะไรทางปาก

วิธีการช่วยเหลือ

1. รีบจอดรถให้ห่างจากสถานที่เกิดเหตุพอสมควร เปิดไฟกระพริบไว้

2. ปิดสวิตช์รถที่เกิดเหตุทิ้งกุนแจลงที่พื้นรถ ดับบุหรี่ถ้ามี สำรวจอาการของคนเจ็บแต่ละคน


3. รีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจ


4. ทำสัญญาณเตือนภัยอุบัติเหตุ เช่น กิ่งไม้ หรือไฟกระพริบ อย่าเคลื่อนย้ายคนเจ็บเว้นแต่ว่ารถจะเกิดไฟลุกไหม้


5. เช็ดเลือดออกจากปากคนเจ็บเพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง คลายเสื้อผ้าส่วนที่รัดรึงออก แนะคนเจ็บที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ให้ปฐมพยาบาลตัวเอง เช่น ห้ามเลือด


6. ช่วยคนเจ็บตามลำดับก่อนหลังดังนี้


- คนหมดสติและหายใจไม่ออก


- คนที่เลือดออกมาก


- คนหมดสติแต่ยังหายใจได้เอง


7. ปลอบใจคนเจ็บให้หายกังวล และแจ้งว่ารถพยาบาลกำลังมา ระหว่างรอห้ามให้คนเจ็บดื่มน้ำโดยเด็ดขาด




                                            อุบัติเหตุจากไฟฟ้าดูด

 กระแสไฟฟ้าที่ผ่านเข้าไปในร่างกาย จะทำให้ ศูนย์กลางการหายใจในสมองกลายเป็นอัมพาการสูบฉีดโลหิตเป็น

ไปอย่างไร้ผล รวมไปถึงอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้


วิธีการช่วยเหลือ
1.
รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยการปิดสวิตช์ หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นฉนวนกันไฟฟ้า เช่น ถุงมือยาง กระดาษแห้งรองมือ ดึงให้คนเจ็บหลุดจากกระแสไฟ ระหว่างนั้นให้คนรีบตามแพทย์ในทันที

2. ระหว่างรอแพทย์ รีบผายปอดคนเจ็บที่มีอาการช๊อคทันที และทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหายใจ หรือจนกว่าจะถึงมือแพทย์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง


3. ในทันทีที่คนช็อคหายใจได้ต้องให้คนไข้ได้รับเป็นความอบอุ่นเป็นอย่างดี


4. ให้คนไข้นั่งอยู่ในท่าเอนกาย และอยู่ในที่สงบเงียบ เพราะคนไข้อาจช๊อคขึ้นมาอีกได้จึงต้องคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะถึงมือแพทย์




                                               อุบัติเหตุคนจมน้ำ
 เมื่อคนจมน้ำ จะมีอาการของทางเดินหายใจอุดตัน เนื่องจากการมีน้ำอยู่ในท่อลมและหลอดลมเต็มไปหมด หน้าบวม ลิ้นบวม หายใจขัด และต่อมาก็จะหยุดหายใจ ชีพจรเต้นเร็ว เบาลง จนในที่สุดจะหยุดเต้น และตาย

วิธีการช่วยเหลือ


1. ช่วยเอาน้ำออกจากทางหายใจและกระเพาะอาหาร อาจทำได้โดย


- ใช้นิ้วล้วงคอให้อาเจียน


-ถ้าเป็นเด็กจับอุ้มพาดบ่า ให้ศรีษะห้อยลงข้างหลัง รวบขาเด็กไว้แล้วเดินเขย่าหรือวิ่งเหยาะ ๆ เพื่อให้น้ำออกมาทางปากทางจมูก


- ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้จับผู้ป่วยนอนคว่ำ เอามือของผู้ป่วยสอดใต้ท้อง แล้วยกมือที่สอดไว้นั้นขึ้น วิธีนี้จะทำให้น้ำถูกบีบออกจาก กระเพาะ ปอด และหลอดลม จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ หันศรีษะไปข้างใดข้างหนึ่ง


2. ทำการผายปอดโดย ผู้ช่วยคุกเข่าลง เอามือวางบนซี่โครงซี่ล่าง ๆ ของผู้ป่วย แล้วกดหน้าอกด้วยน้ำหนักตัว นับหนึ่ง-สอง-สาม แล้วปล่อยตามเดิม นับอีก หนึ่ง-สอง-สาม แล้วลงมือกดอีก ทำเช่นนี้ให้ได้ 12-16 ครั้งใน 1 นาที ให้ใช้เสื้อหรือผ้าม้วน ๆ สอดไว้ในท้องผู้ป่วยด้วย


3. บางทีอาจต้องทำการผายปอดอยู่นานถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งจึงจะได้ผล เมื่อผู้ป่วยเริ่มหายใจแล้ว ห่มผ้าหรือใส่เสื้อให้หนา ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการช๊อค จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาขั้นต่อไป




การช่วยเหลือผู้ถูกไฟไหม้
 ไฟไหม้ หมายถึง การทำลายผิวหนังหรือเนื้อของร่างกาย จากผลของความร้อนแห้งได้แก่ถูกไฟ กระแสไฟฟ้า ฟ้าผ่า กัมมันตรังสี รังสีของแสงแดด และยังรวมถึงการถูกเคมีวัตถุต่าง ๆ และ ถูกกรด ด่าง อีกด้วย

วิธีการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาล


1. รักษาอาการช๊อค โดยให้คนเจ็บนอนในท่าศรีษะต่ำ เลือดจะได้ไปสู่สมองได้มาก ๆ และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยการคลุมผ้า หรือวางกระเป๋าน้ำร้อนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเท่าที่จะทำได้ ถ้าปวดแผล อาจให้ยาระงับปวดได้ ถ้าหยุดหายใจ ให้ช่วยผายปอด


2. รีบนำส่งโรงพยาบาล


3. การตกแต่งแผงไฟไหม้


- รีบตัดเสื้อผ้าที่ถูกไฟไหม้ทิ้งไป


- ล้างแผลที่ถูกไหม้ด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก ตัดผิวหนังตรงที่พองออก ให้เหลือแผลแดง ๆ


- ล้างแผลที่ตัดหนังออกด้วย น้ำยาด่างทับทิม น้ำเกลือ น้ำยาโซเดียมไบคาร์บอเนต 2% หรือน้ำปูนใสก็ได้ เสร็จแล้วใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลือปิดแผล และพันผ้าไว้ รีบนำส่งโรงพยาบาลต่อไป


- ในรายที่ไฟไหม้บริเวณคอและใบหน้า อาจทำให้คอบวม หรือหายใจไม่ออก ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะอาจจำเป็นต้องช่วยโดยการผ่าตัด เจาะท่อลมที่คอ เพื่อให้คนเจ็บหายใจได้


- บาดแผลที่เกิดจากการถูกกรด ให้ล้างด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาจากก๊อกน้ำ แล้วชุบน้ำยาที่เป็นด่างเช่นน้ำยาโซเดียมไบคาร์บอเนต 2% ชุบปิดแผลไว้ ส่วนบาดแผลที่เกิดจากด่างให้รีบล้างด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำเกลือ แล้วชุบน้ำยาที่เป็นด่างอ่อน ๆ เช่น กรดเกลือ 1% หรือถ้าไม่มีก็อาจใช้น้ำส้มสายชูชุบปิดแผลไว้


       อวัยวะถูกตัดขาด
 ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าของแพทย์ด้านจุลศัลยกรรมหรือการผ่าตัดโดยใช้ กล้องจุลทรรศน์มีมากขึ้น..
แพทย์สามารถทำการต่ออวัยวะที่หลุดขาดออกจากร่างกายและประสบความสำเร็จ มากขึ้นเรื่อยๆ แต่บางกรณีก็ไม่สามารถผ่าตัดต่อได้สำเร็จ อาจเป็นเพราะเนื้อเยื่อ
อวัยวะที่หลุดขาดนั้นมีความชอกช้ำมากเกินไป ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์พอที่จะรับการผ่าตัดได้หลายๆ ชั่วโมง หรืออวัยวะนั้นๆ อยู่ในสภาพขาดเลือดมาเป็น
เวลานานเกินไป สิ่งที่สำคัญที่สุดเบื้องต้นที่ท่านควรทราบและปฏิบัติตาม หากมีเพื่อนหรือญาติพี่น้องของท่านประสบอุบัติเหตุ อวัยวะถูกตัดขาด คือ การเก็บอวัยวะที่ถูกตัดขาดให้ถูกวิธี ดังนี้..
1. เก็บอวัยวะที่ถูกตัดขาดใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด ปิดปากถุงให้สนิทและใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ปิดปากถุงให้สนิทเช่นเดียวกัน ห้ามมิให้ใส่น้ำเข้าไปในถุงทั้งสองเป็นอันขาด
2. นำถุงในข้อแรกไปแช่ในภาชนะ หรือถุงที่ใส่น้ำแข็งโดยรอบ ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล สำหรับบาดแผลของผู้ป่วย ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดแผลแต่ถ้าเลือดออกมากอาจต้องใช้มือช่วยกดบาดแผลเอาไว้ และยกส่วนนั้นๆให้สูง จะช่วยลดการสูญเสียเลือดได้

                      คลอดฉุกเฉิน
 ในบางครั้งมารดาตั้งครรภ์ที่ครบกำหนดคลอด อาจไปโรงพยาบาลไม่ทันเพราะสภาพของการจราจรหรืออาจจะเป็นเพราะคลอดง่าย โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งการคลอดในท้องที่ 2 ขึ้นไป..
ถ้าหากท่านอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ขอให้ทำจิตใจให้มั่นคง อย่าตื่นตกใจจนทำอะไรไม่ถูก การคลอดถือเป็นวิถีทางธรรมชาติ การคลอดส่วนใหญ่เป็นการคลอด
ปกติไม่มีปัญหาแทรกซ้อน การคลอดสามารถดำเนินไปได้ด้วยตัวของมารดาเองโดยไม่ต้องการความช่วยเหลือมาก มายนัก
พยายามให้มีการคลอดในที่ที่อุ่น ไม่หนาวเกินไปสำหรับทารกแรกคลอด ซึ่งอยู่ในครรภ์อุณหภูมิประมาณ 37.5 องศาเซลเซียส ให้มารดาหนุนหมอนนอนสบายๆ บน
ผ้าพลาสติกที่ปูรองใต้ก้น ถ้าไม่มีอาจเป็นผ้าธรรมดา ถ้าท่านสามารถที่จะล้างมือให้สะอาดได้ก่อนก็ควรที่จะกระทำ และเตรียมกรรไกรและเชือกที่สะอาด สำหรับตัด
และผูกสายสะดือไว้ด้วย
ขอให้ท่านพยายามให้กำลังใจและพูดปลอบใจมารดาผู้ที่กำลังจะคลอด ว่าการคลอด
คงจะไม่มีปัญหาอะไร สำหรับขั้นตอนอาจแบ่งได้ดังนี้..
ถ้าหากหัวเด็กโผล่ออกมา แสดงว่าการคลอดกำลังดำเนินไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปหัวจะโผล่ออกมาพร้อมกับไหล่ ให้ประคองศีรษะเด็กขึ้นนิดหน่อย ห้ามดึงตัวเด็กใน
ขณะนี้เพราะส่วนอื่นๆ ของเด็กก็จะค่อยๆ หมุนเคลื่อนออกมา

เมื่อเด็กออกมาจากช่องคลอดแล้ว ให้จัดศรีษะของเด็กให้ต่ำกว่าเท้านิดหน่อย และเอียงหน้าเด็กให้พลิกไปด้านข้างเพื่อให้น้ำในปาก และจมูกไหลออกมา ให้ใช้นิ้ว

เปิดปากเด็กเล็กน้อยถ้ายังมีน้ำอยู่ในปาก แต่ถ้ามีลูกยางดูดก็จะช่วยได้มากทีเดียว

ในช่วงนี้เด็กก็จะเริ่มร้อง แต่ถ้าเด็กยังไม่ร้องภายใน 1 นาที ท่านต้องดูว่ามีอะไรขัดขวางทางเดินหายใจอยู่ในปากหรือไม่ ถ้าไม่มีและเด็กไม่หายใจ ท่านต้องเริ่มใช้

ปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยเอาปากเป่าลมเข้าทั้งทางปากและจมูกเด็กทุกๆ3 วินาที หรือ 20 ครั้งต่อนาที และให้หยุดเป่าถ้าหากทรวงอกของเด็กขยับให้เห็น
ท่านต้องสูดเอาอากาศเข้าไปใหม่ทุกครั้งก่อนที่จะเป่าปากเด็กแต่ละครั้ง

เมื่อเด็กออกมาและร้องดังดีแล้ว ตัวเด็กจะแดงเห็นได้ชัดเจน ให้สังเกตการเต้นของเส้นเลือดในสายสะดือ ถ้าไม่เต้นแล้วให้ท่านเอาเชือกผูกสายสะดือ โดยผูกจุด

แรกห่างจากสะดือเด็กประมาณ 4 นิ้ว ให้ผูกเป็นเงื่อนตายและผูกอีกจุดหนึ่งห่างออกไปประมาณ 2 - 4 นิ้ว แล้วใช้กรรไกรตัดสายสะดือระหว่าง 2 จุดที่ผูกภายใน 20 นาที

หลังเด็กคลอด รกจะค่อยๆ ออกมาทางช่องคลอด ต้องไม่พยายามดึงเพราะอาจทำให้ฉีกขาดและเลือดออกมาได้ ท่านต้องช่วยคลึงหน้าท้องบริเวณสะดือวนไปมาเป็นรูปวงกลม จะทำให้รกคลอดได้ง่ายขึ้นและมดลูกจะหดตัว เลือดจะออกน้อยลง





 การปฐมพยาบาล


บทเรียนเรื่อง การปฐมพยาบาล ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ต้องการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ทราบถึง


 ความหมายและความสำคัญของการปฐมพยาบาล 
 หลักทั่วไปของการปฐมพยาบาล
 ประโยชน์ของการปฐมพยาบาล
 ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลในเรื่องต่าง ๆ


ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการปฐมพยาบาล ดีขึ้นและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย



การปฐมพยาบาล หมายถึง...
การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติภัยหรือเจ็บป่วยกระทันหันโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ ที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายน้อยลง ก่อนที่จะนำส่งโรง พยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาพยาบาลต่อไป
ความสำคัญของการปฐมพยาบาล...
ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลแพทย์หรือโรงพยาบาล การรู้เรื่องการปฐมพยาบาลมีความจำเป็นมาก อุบัติภัยและการเจ็บป่วยอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีในระยะแรก จะช่วยลดการเสียชีวิตหรือความพิการทุพลภาพของผู้ป่วยลงได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาได้ และยังเป็นการเตรียมผู้ป่วยก่อนถึงมือแพทย์อีกด้วย ดังนั้นเราควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาล และสามารถปฐมพยาบาลได้อย่างถูกวิธีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วย

หลักทั่วไปของการปฐมพยาบาล

ผู้ทำการปฐมพยาบาลจะต้องควบคุมสติของตนเองให้ได้ อย่าตื่นเต้นตกใจต่อเหตุการณ์ที่ได้พบเห็น และต้องตรวจดูอาการของ ผู้ป่วยเสียก่อนว่าได้รับอันตรายอะไรบ้าง ซึ่งเราจะสามารถทราบอาการของผู้ป่วย โดยการ

 * การสอบถามจากตัวผู้ป่วย  * สอบถามจากผู้เห็นเหตุการณ์

 * สังเกตจากสิ่งแวดล้อม  * สังเกตจากอาการของผู้ป่วย
สิ่งที่ผู้ทำการปฐมพยาบาลควรต้องปฏิบัติ คือ

 - ห้ามเลือดถ้ามีเลือดไหลช่วยผายปอดเมื่อจำเป็น
 - ถ้าหยุดหายใจให้รีบผายปอดทันทีจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจเองได้
 - ไม่ควรสัมผัสบาดแผลที่มีเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ป่วยโดยตรง
 - ในกรณีที่ผู้ป่วยใส่ฟันปลอมควรนำออกในขณะที่ผู้ป่วยหมดสติ
 - ในกรณีที่ผู้ป่วยสลบหรือหมดสติห้ามให้ดื่มน้ำหรือกินยา
ถ้าสงสัยว่ามีกระดูกหักควรเข้าเฝือกชั่วคราวก่อนการเคลื่อนย้าย
ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยถ้าไม่จำเป็น
ในกรณีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บสาหัสมาก ให้รีบนำส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด
ประโยชน์ของการปฐมพยาบาล
1. เพื่อช่วยพยุงชีวิตเอาไว้ ได้แก่ ช่วยในการหายใจ ช่วยห้ามเลือด
2. ให้ผู้ป่วยคลายความทุกข์ทรมานและไม่ให้มีการบาดเจ็บมากขึ้นไปอีก
3. ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ได้แก่ การดูแลและให้กำลังใจ การให้ยาแก้ปวด การให้ความอบอุ่น

อุบัติเหตุ
สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ลักษณะอาการนั้นจะมีความแตกต่างกันไป แล้วแต่กรณีที่ผู้ป่วยได้ประสบมา ดังนั้นเราจึง จำเป็นต้องเลือกวิธีการปฐมพยาบาลและสามารถนำมาใช้ตามลักษณะอาการเจ็บป่วยที่ เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องปลอดภัย
ตัวอย่างอุบัติเหตุที่พบกันเป็นประจำ คือ 
 - มีบาดแผลเลือดออก ผิวหนังถลอก  - มีอาการหมดสติ เป็นลม หรือช็อค 
 - ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก  -  ถูกสัตว์มีพิษกัดหรือต่อย

การเกิดบาดแผล

บาดแผล หมายถึง รอยฉีกขาดของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ และส่วนที่ลึกกว่าชั้นผิวหนังถูกทำลาย ทำให้แยกจากกันชนิดของบาดแผล แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
แผลช้ำ
คือแผลที่ไม่มีรอยแยกของผิวหนัง เกิดจากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก แต่อาจมีอาการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ และ เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการเลือดคั่งใต้ผิวหนัง ทำให้มีอาการบวมได้
แผลแยก
คือแผลที่มีรอยแยกของผิวหนัง ซึ่งทำให้มีเลือดออกมาได้ แผลบางประเภทมีเลือดออกมาก บางประเภทมีเลือดออกน้อย

การปฐมพยาบาล แผลช้ำ
 - ควรประคบบริเวณช้ำด้วยความเย็น เพื่อทำให้เส้นเลือดตีบไม่มีเลือดไหลออกมาอีก
 - ไม่ควรเคลื่อนไหวบริเวณที่มีแผลช้ำ เพราะการเคลื่อนไหวมาก ๆ จะทำให้เลือดออกอีกได้
 - อีก 24 ชั่วโมง ให้ใช้ความร้อนประคบเพื่อให้เส้นเลือดขยายตัว ช่วยลดอาการช้ำ
การปฐมพยาบาลแผลแยก
ในกรณีมีบาดแผลผิวหนังถลอก ควรปฏิบัติ ดังนี้  - ใช้น้ำสะอาดล้างแผลแล้วซับให้แห้ง
 - ใช้ยาทาแผลสดทาให้ทั่วบริเวณที่ถลอก
 - ไม่ต้องปิดบาดแผล ถ้าแผลนั้นไม่อยู่ในตำแหน่งที่สกปรกหรือถูกน้ำได้ง่าย

การปฐมพยาบาลแผลแยก
ในกรณีมีบาดแผลเปิดมีเลือดออกมาก ควรปฏิบัติ ดังนี้   - ถ้ามีการเลือดออกมากจะต้องห้ามเลือดเสียก่อน แล้วตรวจดูชนิดของบาดแผล
  - ถ้ามีอาการช็อคหรือเป็นลม ควรรักษาอาการช็อคหรือเป็นลมเสียก่อน
  - ถ้าบาดแผลมีเลือดแข็งตัวอุดปากแผลอยู่อย่าดึงหรือแกะออกเพราะจะทำให้เลือด ออกมาอีกได้
  - ไม่ควรล้างแผลด้วยตนเอง เพราะเลือดจะออกมากขึ้น และแผลอาจติดเชื้อได้ง่าย
  - แล้วรีบนำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
 ข้อควรจำ เมื่อเกิดบาดแผลทุกชนิด เราควรต้องไปรับการฉีดยาป้องกันบาดทะยักทุกครั้ง


การปฐมพยาบาลเมื่อหมดสติ เป็นลม ช็อค
ภาวะการหมดสติ นั้นเกิดมาจากหลายสาเหตุ ดังนั้นการช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นต้นเป็นสิ่งสำคัญมาก จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความ รู้ความสามารถที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ ซึ่งมีหลักควรปฏิบัติดังนี้ 
   - ตรวจดูในปากว่ามีสิ่งอุดตันทางเดินหายใจหรือไม่ ถ้ามีต้องรีบนำออกโดยเร็ว 
   -  จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่เหมาะสม โดยให้ผู้ป่วยนอนตะแคงคว่ำไปด้านใดด้านหนึ่ง
   - คลายเครื่องนุ่งห่มให้หลวม และห้ามให้น้ำหรืออาหารทางปาก
   - ถ้ามีอาการชักให้ใช้ ผ้าม้วนเป็นก้อนสอดระหว่างฟันบนกับฟันล่างเพื่อกันผู้ป่วยกัดลิ้นตนเอง 
   - ทำการห้ามเลือดในกรณีที่มีเลือดออก ถ้ามีอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
เป็นลมคือ อาการหมดสติเพียงชั่วคราว
เนื่องจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เหนื่อยหรือร้อนจัด, หิวหรือ เครียด ควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้
 - นำเข้าพักในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
 - ให้นอนราบ และคลายเสื้อผ้าให้หลวม
 - ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดเหงื่อที่หน้าผาก มือ และเท้า
 - ให้ผู้ป่วยดมแอมโมเนีย

ข้อสังเกต
ถ้าใบหน้าผู้ที่เป็นลมขาวซีด ให้นอนศีรษะต่ำ ถ้าใบหน้ามีสีแดงให้นอนศีรษะสูง

อาการช็อค หมายถึง
สภาวะที่เลือดไม่สามารถนำออกซิเจน ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายให้เพียงพอได้ ส่วนใหญ่การเสียเลือดจะเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดอาการช็อคได้
การช่วยเหลือผู้ป่วยควรทำ ดังนี้
 - นำเข้าพักในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
 - ให้นอนราบไม่ต้องหนุนศีรษะ และควรนอนยกปลายเท้าสูง ในช่วง 30 นาทีแรกเท่านั้น
 - คลายเสื้อผ้าให้หลวม และทำการห้ามเลือดในกรณีที่มีบาดแผลเลือดออก
 - ห้ามให้อาหารและน้ำทางปาก ควรสังเกตุการหายใจเป็นระยะๆ
 - รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน

บาดแผลที่เกิดจาก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

บาดแผลลวก
คือ แผลที่เกิดจากความร้อน เช่น
 - ความร้อนจากเปลวไฟหรือไฟไหม้
 - ความร้อนจากไอน้ำเดือดหรือของเหลวร้อน
 - ความร้อนจากสารเคมี
 - ความร้อนจากกระแสไฟฟ้าดูด หรือฟ้าผ่า
 - ความร้อนจากรังสี ต่าง ๆ
อาการที่ได้รับ คือ
ปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังแดงพอง หรืออาจเป็นรอยไหม้เกรียมในกรณีที่ถูกรังสีมาก ๆ และควรระวังผู้ป่วยที่ถูกไฟฟ้าดูดซึ่งอาจเกิดสภาวะหยุดหายใจได้ ต้องรีบผายปอดทันทีจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจเองได้

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยแผลลวก ควรปฏิบัติ ดังนี้...

 - ถอดหรือตัดเสื้อผ้าบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก
 - แต่ถ้าบางส่วนติดแน่นกับผิวหนังไม่ควรดึงออก
 - ควรใช้น้ำเย็นราดบริเวณผิวหนังที่ถูกความร้อน เพื่อลดความร้อนที่จะไปทำลายผิวหนัง
 - ถ้าปวดแสบปวดร้อนให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งวางประคบตรงบริเวณแผลหรือ
 - ปิดด้วยผ้าก๊อสเพื่อป้องกันมิให้ถูกอากาศภายนอก
 - ใช้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก หรือ ขี้ผึ้ง วาสลิน ทาบนผ้าก๊อสปิดบริเวณแผล
 - ถ้าถูกสารเคมีต้องรีบล้างสารเคมีนั้นออกจากผิวหนังด้วยน้ำสะอาดโดยเร็วที่ สุด
 - ถ้ากระหายน้ำให้ดื่มน้ำเล็กน้อย และไม่ควรให้น้ำเย็นจัด
 - ถ้ามีอาการมากต้องรีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว

การปฐมพยาบาลเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย

งู เป็นสัตว์มีพิษ
ที่เราพบเห็นกันบ่อยในชีวิตประจำวันซึ่งงูแต่ละชนิดจะมีพิษมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของงูนั้น ๆ ในปัจจุบันนี้หากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี ก่อนให้แพทย์ทำการฉีดเซรุ่ม ผู้ป่วยก็รอดชีวิตได้ ดังนั้นก่อนที่ผู้ป่วยจะไปถึงมือแพทย์ ควรได้รับการปฐมพยาบาล อย่างถูกต้องเสียก่อนเมื่อเราพบผู้ป่วยที่ถูกงูกัด ก่อนอื่น ต้องตรวจดูรอยเขี้ยวงูเสียก่อน
ถ้ากรณีที่งูมีพิษกัด รอยเขี้ยวจะมีลักษณะเป็นแผลลึก 2 รอย และบาดแผลมีลักษณะเขียวช้ำ ให้รีบปฏิบัติ ดังนี้

การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูพิษกัด

 - ใช้เชือก ผ้า หรือสายยางรัดบริเวณเหนือแผล ระหว่างแผลกับหัวใจให้แน่น
 - บีบหรือคัดเลือดบริเวณบาดแผลออก เพื่อให้พิษงูออกมาทางบาดแผลได้บ้าง
 - ห้ามให้ดื่มสุราหรือใช้ยากระตุ้นหัวใจเป็นอันขาด เพราะจะทำให้พิษงูเข้าสู่หัวใจเร็วขึ้น
 - พยายามอย่าให้ผู้ป่วยหลับ ควรปลุกให้รู้สึกตัวเป็นระยะ ๆ
 - ล้างแผลด้วยด่างทับทิมแก่ ๆ หรือจะใช้ด่างทับทิมปิดที่ปากแผลก็ได้
 - รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที หากทราบชนิดของงูที่กัดได้จะเป็นการสะดวกในการฉีดเซรุ่ม

สุนัขกัด
เมื่อถูกสุนัขทั่วๆไปกัด การช่วยเหลือคือรีบล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด เพื่อล้างน้ำลายและสิ่งสกปรกออกจากบาดแผลแล้วจึงทำแผลใส่ยา ให้รับประทานยาแก้ปวดถ้าเกิดอาการปวดที่บาดแผล และควรไปรับการฉีดยาป้องกันบาดทะยักด้วยกรณีที่ถูกสุนัขบ้ากัด ถ้ายังไม่แน่ใจว่าสุนัขที่กัดนั้นเป็นบ้าหรือไม่ ควรนำสุนัขนั้นขังไว้ประมาณ 10 วันเพื่อสังเกตอาการ

ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกสุนัขบ้ากัด
 - ใช้น้ำสะอาดล้างบาดแผลมาก ๆ และฟอกสบู่เพื่อล้างน้ำลายของสุนัขออกให้หมด
 - ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดบริเวณแผลและทำแผลให้เรียบร้อย
 - รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการฉีดยาป้องกันบาดทะยักและโรคพิษสุนัขบ้า

แมงป่อง และตะขาบกัด
แมงป่อง และตะขาบที่เราพบเห็นมีอยู่หลายชนิดบางชนิดก็มีพิษร้ายแรง ถ้าถูกกัดจะมีอาการบวมแดง อักเสบและปวดมาก อาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและเกิดอาการชักได้
ให้รีบปฏิบัติดังนี้

 - ใช้เชือกรัดบริเวณเหนือบาดแผล เพื่อป้องกันไม่ให้พิษซึมเข้าสู่กระแสเลือด
 - บีบเลือดออกจากบาดแผลพอประมาณ เพื่อช่วยรีดพิษออกจากร่างกายได้
 - ใช้สำลีชุบแอมโมเนียหอมทาที่แผล และถ้ามีอาการปวดให้ยาแก้ปวดได้
 - ถ้าแผลบวมใช้ถุงน้ำแข็งประคบ เพื่อบรรเทาอาการได้


-----------------------------------------------------------------------------------------


เมื่อถึงที่เกิดเหตุ ควรทำอย่างไร


หลักของการปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุ บางท่านหรือประชาชนจะรับทราบแต่เพียงว่าเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิต่าง ๆ ทำหน้าที่เก็บศพเพียงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครฯ ไม่ได้ มีเพียงเท่านี้ การเก็บศพเป็นแค่เพียงบทบาท (Role) ซึ่งยังมี รายละเอียด (Detial) อีกมากมาย สำหรับอาสาสมัครฯ หลายๆ ท่าน อาจเป็นมือวางอันดับหนึ่งหรือที่เรียกว่า "มือโปรฯ" (Professional) คงจะทราบถึงข้อควรปฏิบัติในที่เกิดเหตุเป็นอย่างดี แต่สำหรับ อาสาสมัครฯ น้องใหม่ฯ ที่ต้องการแนวทางไปปฏิบัติ ก็เชิญติดตามได้เลย



การปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุ กรณีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ (ว.40)


1. เมื่อถึงที่เกิดเหตุควรตรวจสอบก่อนว่าผู้ประสบเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้ว หากพบว่าเป็นอาการบาดเจ็บ ให้ทำการปฐมพยาบาลช่วยเหลือเบื้องต้น หรือขอการสนับสนุนความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ต่างๆได้ โดยติดต่อผ่านศูนย์ วิทยุ (ของหน่วย นั้น ๆ ) หลังจากนั้นจึงค่อยนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ แต่หากเสียชีวิตแล้วให้ดำเนินการในข้อ 2 ต่อไป


2. ต้องกันประชาชนที่มุงดูออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุให้ห่างมากที่สุด เพื่อเตรียมพื้นที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกที่สุด และรักษาสภาพของสถานที่เกิดเหตุ


3. ควรดำเนินการถ่ายรูปผู้เสียชีวิตและสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียด เพื่อเก็บเป็นหลักฐาน และอาจใช้เป็นข้อมูลภาพสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


4. ทำการบันทึกข้อมูลในที่เกิดเหตุ (ว.8) เช่น ทะเบียนรถ, สีรถ ของผู้เสียชีวิตและคู่กรณี (ถ้ามี) รวมทั้งชื่อ-สกุลผู้เสียชีวิต, พื้นที่ที่เกิดเหตุอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจใด, ชื่อ-สกุลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นร้อยเวร (30), เวลาเกิดเหตุ เป็นต้น


5. ห้ามเคลื่อนย้ายผู้เสีย ตลอดจนยานพาหนะ ต้องคงอยู่ในสภาพเดิม เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ร้อยเวร (30) ในพื้นที่ที่เกิดเหตุและแพทย์ ทำการชันสูตรพลิกศพ


6. รอคำสั่งให้ร่วมชันสูตรพลิกศพ หลังจากนั้นดำเนินการนำผู้เสียชีวิตไปยังสถานีตำรวจของท้องที่ที่เกิดเหตุ


7. รอรับใบส่งตัว (ส่งศพ) จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ


8. ดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้เสียชีวิต เพื่อเก็บเป็นหลักฐานทางนิติเวชฯ


9. หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆครบถ้วนแล้ว ต้องนำศพผู้เสียชีวิตส่งสถาบันนิติเวชฯ เพื่อให้แพทย์ทำการผ่าพิสูจน์ต่อไป




การเข้าที่เกิดเหตุกรณีมีผู้เสียชีวิตจากฆาตกรรม (เหตุ 241)




1. ต้องกันประชาชนที่มุงดูออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุให้ห่างมากที่สุด โดยการนำเชือกมากั้นบริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุ เพื่อเตรียมพื้นที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกที่สุด และรักษาสภาพของสถานที่เกิดเหตุ


2. ควรดำเนินการถ่ายรูปผู้เสียชีวิตและสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียด เพื่อเก็บเป็นหลักฐาน และอาจใช้เป็นข้อมูลภาพสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


3. ทำการบันทึกข้อมูลในที่เกิดเหตุ (ว.8) เช่น ชื่อ-สกุลผู้เสียชีวิต, พื้นที่ที่เกิดเหตุอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจใด, ชื่อ-สกุลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นร้อยเวร (30), เวลาเกิดเหตุ เป็นต้น


4. ห้ามเคลื่อนย้ายผู้เสีย รื้อค้นทรัพย์สิน อาวุธ หรือวัตถุทางคดีในที่เกิดเหตุ ต้องคงอยู่ในสภาพเดิม เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ร้อยเวร (30) ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานและแพทย์ ทำการชันสูตรพลิกศพ


5. รอคำสั่งให้ร่วมชันสูตรพลิกศพ หลังจากนั้นดำเนินการนำผู้เสียชีวิตไปยังสถานีตำรวจของท้องที่ที่เกิดเหตุ


6. รอรับใบส่งตัว (ส่งศพ) จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ


7. ดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้เสียชีวิต เพื่อเก็บเป็นหลักฐานทางนิติเวชฯ


8. หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆครบถ้วนแล้ว ต้องนำศพผู้เสียชีวิตส่งสถาบันนิติเวชฯ เพื่อให้แพทย์ทำการผ่าพิสูจน์ต่อไป




การปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุ กรณีมีเพลิงไหม้,ติดภายใน,รอรถกู้ชีพ




1. ต้องกันประชาชนที่มุงดูออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุให้ห่างมากที่สุด โดยการนำเชือกมากั้นบริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุ เพื่อเตรียมพื้นที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกที่สุด


2. เตรียมพื้นที่สำหรับรถกู้ชีพ หรือรถดับเพลิงเพื่อเข้ายังที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม ภาระกิจนั้นๆ


Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 45,574 Today: 5 PageView/Month: 293

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...